26 ท่า พัฒนาสมอง ด้วย Brain Gym

ท่าบริหารสมองทั้งสองซีกให้ทำงานประสานกันได้ขึ้น เพิ่มความจำ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และช่วยให้อารมณ์ดี

ภาพประกอบ

กิจกรรม Brain Gym คืออะไร

ดร.พอล เดนนิสัน ผู้คิดค้นพัฒนาการบริหารสมอง Brain Gym ได้อธิบายว่า การบริหารสมอง Brain Gym เป็นการพัฒนาสมองทั้งสองซีกให้ทำงานได้ดีมากขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และหากได้บริหารสมองเป็นประจำนั้นจะดีต่อภาวะอารมณ์ของเราอีกด้วย

Brain Gym แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มท่า

Brain Gym แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มท่า ทุกคนสามารถทำตามได้ไม่ยาก

กลุ่มท่าที่ 1 การเคลื่อนไหวสลับข้าง (Cross Over Movement)

เป็นการทำงานของสมองทั้งสองซีกโดยถ่ายโยงข้อมูลกันได้ ส่งเสริมการประสานการทำงานของตา มือ และเท้า

1.1 ยกขาขวางอให้ตั้งฉากกับพื้นพร้อมกับยื่นแขนทั้งสองออกไปด้านหน้า คว่ำมือลงขนานกับพื้น แกว่งแขนทั้งสองไปด้านข้างลำตัว ตรงข้ามกับขาที่ยกขึ้น แกว่งแขนทั้งสองกลับมาอยู่ที่ด้านหน้า พร้อมกับวางเท้าขวาไว้ที่เดิม แล้วเอามือลง เปลี่ยนขา

1.2 ก้าวเท้าขวาวางหน้าเท้าซ้าย พร้อมกับยื่นแขนทั้งสองข้างออกไปด้านหน้า มือคว่ำลงขนานกับพื้น แกว่งแขนทั้งสองไปด้านข้างลำตัว ตรงข้ามกับขาที่ก้าวออกไป แกว่งแขนทั้งสองข้างกลับมาอยู่ด้านหน้า พร้อมกับชักเท้าขวาวางที่เดิม แล้วเอามือลง สลับเท้าทำซ้ำอีกครั้ง

1.3 ยกขาขวางอไปด้านหลัง พร้อมกับยื่นแขนทั้งสองออกไปด้านหน้า มือคว่ำลง แกว่งแขนทั้งสองไปด้านข้างลำตัวตรงข้ามกับขาที่ยกขึ้น ให้มือซ้ายแตะส้นเท้าขวา แกว่งแขนทั้งสองกลับมาอยู่ด้านหน้า พร้อมกับวางเท้าขวาไว้ที่เดิม แล้วเอามือลง แล้วเปลี่ยนขาทำซ้ำอีกครั้ง

1.4 วิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่ช้า ๆ

1.5 นั่งชันเข่า มือสองข้างประสานกันที่ท้ายทอย เอียงข้อศอกซ้ายแตะที่หัวเข่าขวา ยกข้อศอกซ้ายกลับไปที่เดิม เปลี่ยนเป็นเอียงข้อศอกขวา

1.6 กำมือซ้ายขวาไขว้กันระดับหน้าอก กางแขนทั้งสองข้างออกห่างกันเป็นวงกลมแล้วเอามือกลับมาไขว้กันเหมือนเดิม

1.7 กำมือสองข้าง ยื่นแขนตรงไปข้างหน้า ให้แขนคู่กัน เคลื่อนแขนทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน หมุนเป็นวงกลมสองวงต่อกันคล้ายเลข 8 ในแนวนอน

1.8 ยื่นแขนขวาออกไปข้างหน้า กำมือชูนิ้วโป่งขึ้น ตามองที่นิ้วโป่ง ศีรษะตรงและนิ่ง หมุนแขนเป็นวงกลม 2 วงต่อกันคล้ายเลข 8 ในแนวนอน ขณะหมุนแขนตามองที่นิ้วโป้งตลอดเวลา แล้วเปลี่ยนแขนทำซ้ำอีกครั้ง

กลุ่มท่าที่ 2 การยืดส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (Lengthening Movement)

ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของสมองส่วนหน้าและส่วนหลัง ทำให้มีสมาธิในการเรียนรู้ และการทำงานมากขึ้น

2.1 ยืนหันหน้าเข้าผนัง เว้นระยะห่างเล็กน้อย ยกมือสองข้างดันฝาผนัง งอขาขวา ขาซ้ายยืดตรง ยกส้นเท้าขึ้น เอนตัวไปข้างหน้า เล็กน้อย พร้อมกับหายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ วางส้นเท้าลง ตัวตรงหายใจออกช้า ๆ งอขาซ้าย ทำเหมือนขาขวา

2.2 ยืนไขว้ขาทั้งสองข้าง ยืนทรงตัวให้ดี หายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ ก้มตัวลงไขว้แขน หายใจออกช้า ๆ ยืดตัวขึ้น แล้วเปลี่ยนขาทำซ้ำอีกครั้ง

2.3 นั่งไขว่ห้าง กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง พร้อมกับนวดขาช่วงหัวเข่าถึงข้อเท้า เปลี่ยนขาทำซ้ำอีกครั้ง

2.4 มือขวาจับไหล่ซ้าย พร้อมกับหายใจเข้าช้า ๆ ตามองมือขวา ดึงหัวไหล่เข้าหาตัว พร้อมกับหันหน้าไปทางขวา ทำเสียง “อู” ยาว ๆ เปลี่ยนมือทำซ้ำอีกครั้ง

2.5 ใช้มือทั้งสองข้างทำท่ารูดซิปขึ้น (สุดแขนด้านล่าง แล้วยกขึ้นเหนือศีรษะ) หายใจเข้าช้า ๆ ทำท่ารูดซิปลง หายใจออกช้า ๆ

กลุ่มท่าที่ 3 การเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้น (Energizing Movement)

เป็นการกระตุ้นการทำงานของกระแสประสาท ทำให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกทางอารมณ์ และเกิดแรงจูงใจ ในการช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น

3.1 ใช้นิ้วชี้นวดขมับเบา ๆ ทั้งสองข้างวนเป็นวงกลม

3.2 กดจุดตำแหน่งต่าง ๆ ในร่างกายที่จะกระตุ้นการทำงานของสมอง – ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้วางบริเวณกระดูกคอ ลูบเบา ๆ อีกมือวางที่ตำแหน่งสะดือ กวาดตามองจากซ้ายไปขวา และจากพื้นขึ้นเพดาน เปลี่ยนมือทำเช่นเดียวกัน – ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางแตะเหนือริมฝีปาก อีกมือวางที่ตำแหน่งกระดูกก้นกบ กวาดตามองจากพื้นขึ้นเพดาน หายใจเข้า-ออกช้า ๆ ลึก ๆ เปลี่ยนมือทำเช่นเดียวกัน – ใช้มือนวดกระดูกหลังใบหูเบา ๆ อีกมือวางที่ตำแหน่งสะดือ ตามองตรงไปข้างหน้าไกล ๆ จินตนาการวาดรูปวงกลมด้วยจมูก เปลี่ยนมือ ทำเช่นเดียวกัน – ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางวางที่ใต้คาง อีกมืออยู่ที่ตำแหน่งสะดือ หายใจเข้า-ออก ช้า ๆ ลึก ๆ สายตามองจากไกลเข้ามาใกล้ เปลี่ยนมือทำเช่นเดียวกัน

3.3 นวดใบหูด้านนอกเบา ๆ ทั้งสองข้าง แล้วใช้มือปิดหูเบา ๆ ทำช้า ๆ หลาย ๆ ครั้ง

3.4 ใช้มือทั้งสองเคาะที่ตำแหน่งกระดูกหน้าอก โดยสลับมือกันเคาะ แต่ต้องเคาะเบา ๆ

กลุ่มท่าที่ 4 ท่าบริหารร่างกายง่าย ๆ (Useful)

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ของสมอง เช่น การจดจำ การมองเห็น การได้ยิน และช่วยลดความเครียดลงได้

4.1 นั่งบนเก้าอี้ ยกเท้าขวาขึ้นพาดบนขาซ้าย มือกุมฝ่าเท้าขวา หายใจเข้า ออกช้า ๆ ลึก ๆ 1 นาที แล้ววางเท้าลงบนพื้นเหมือนเดิม ให้เท้าทั้งสองข้างแตะพื้น กำมือเข้าด้วยกัน แล้วใช้ปลายลิ้นกดที่ฐานฟันล่างประมาณ 1 นาที จะเป็นท่าทีมีประสิทธิภาพสูงมาก ช่วยลด ความเครียด ความอึดอัด และความคับข้องใจ เปลี่ยนขาทำซ้ำอีกครั้ง

4.2 กำมือทั้งสองข้าง ยกขึ้นไขว้กันระดับตา ตามองมือที่อยู่ด้านนอก

4.3 วางมือซ้อนกันที่ด้านหน้า หายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ คว่ำมือลง หายใจออกช้า ๆ แล้ววาดมือออกเป็นวงกลม แล้ววางมือไว้ที่เดิม

4.4 ใช้มือทั้งสองปิดตาที่ลืมอยู่เบา ๆ ให้สนิท จนมองเห็นเป็นสีดำมืดสนิทสักพัก แล้วค่อย ๆ เอามือออก เริ่มปิดตาใหม่

4.5 ใช้นิ้วมือทั้งสองข้างเคาะเบา ๆ ทั่วศีรษะ จากกลางศีรษะออกมา ด้านขวาและซ้ายพร้อม ๆ กัน

ที่มา: 26 ท่า พัฒนาสมอง ด้วย Brain Gym - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ประเภทสื่อ : บทความ

ผู้เขียน :

ที่มา : 26 ท่า พัฒนาสมอง ด้วย Brain Gym - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


หัวข้อเรียนรู้ → สมอง Bright สดชื่นตื่นตัวพร้อมทำงาน

ประเด็นสุขภาวะ → เพิ่มกิจกรรมทางกาย

ประเด็น Happy 8 → Happy BodyHappy Brain

เครื่องมือสร้างองค์กรสุขภาวะ

1

สร้างการเรียนรู้ และความเข้าใจ องค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace)

สร้างการเรียนรู้ และความเข้าใจ องค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace)

ReadHappy Workplace คืออะไร

2

ตั้งคณะทำงาน และพัฒนาทีมงาน (นักสร้างสุของค์กร)

ตั้งคณะทำงาน และพัฒนาทีมงาน (นักสร้างสุของค์กร)

DownloadTemplate ตั้งคณะทำงาน

3

สำรวจและวิเคราะห์ปัญหาในองค์กร

สำรวจและวิเคราะห์ปัญหาในองค์กร

Toolทำแบบประเมินคุณลักษณะองค์กรสุขภาวะ

7

ทบทวนและพัฒนากิจกรรมที่ดำเนินงาน

ทบทวนและพัฒนากิจกรรมที่ดำเนินงาน

8

ส่งเสริมความยั่งยืนในการเกิดวัฒนธรรมสร้างสุขขององค์กร

ส่งเสริมความยั่งยืนในการเกิดวัฒนธรรมสร้างสุขขององค์กร