ผลงานสำคัญของแต่ละองค์กร

บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด

ต้นแบบองค์กรสุขภาวะด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

ข้อมูลองค์กร

บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด

ข้อมูลพื้นฐาน

บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยคุณวินัย รังษีสิงห์พิพัฒน์ “เรเซอร์” เริ่มต้นธุรกิจในฐานะผู้ผลิตสินค้า OEM ด้านอุปกรณ์ส่องสว่างให้กับบริษัทชั้นนำทั้งภายในและต่างประเทศ จนได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยสามารถขยายและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบัลลาสต์คุณภาพสูงมากกว่า 1 ล้านหน่วยต่อเดือน ปัจจุบัน “เรเซอร์” เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอุปกรณ์ส่องสว่างและเทคโนโลยีอัจฉริยะสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งสร้างความสะดวกสบายตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมทั้งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะในผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ส่องสว่างและเทคโนโลยีอัจฉริยะสั่งงานด้วยเสียงแล้ว “เรเซอร์” ยังมี Consumer Unit หรือตู้ไฟเบรกเกอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยแบบ Premium Set ครบชุดพร้อมเบรกเกอร์กันดูด Complete Set เบรกเกอร์ครบชุด และ Hybrid Set ที่มีรูปทรงทันสมัยโดดเด่นเหมาะกับบ้านยุคใหม่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัยที่หลากหลายสำหรับบ้านแห่งอนาคต ภายใต้ Concept “ตัดไว ปลอดภัย หายห่วง”

นอกจากนี้ “เรเซอร์” ยังเป็นผู้ผลิตเสาไฟขนาดมาตรฐานสากลที่ใช้สำหรับติดตั้งโคมไฟส่องสว่างและโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ทางหลวง ทางแยกต่างระดับ ทางพิเศษ โรงงาน สนามบิน และสนามกีฬา เป็นต้น ทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ “เรเซอร์” ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และทีมงานผู้เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพในการตรวจสอบและควบคุมทุกขั้นตอนการผลิตตามหลักมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย (มอก.) โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการผลิต ระบบการบริหารงานองค์กรที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรมด้านการจัดการ และการวางแผนองค์กรในทักษะด้านต่างๆ รวมถึงการฝึกอบรมความเป็นผู้นำเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจ

ด้วยแนวคิดที่ว่าโลกปัจจุบันไม่ได้ต้องการแค่แสงสว่าง แต่ยังรวมถึงสุนทรียภาพของการตกแต่งและการออกแบบให้เข้ากับการใช้ชีวิต บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ทุกพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการคืนความสมดุลสู่ธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างยั่งยืน

บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด มีสำนักงานใหญ่ที่อ้อมน้อย และโรงงานอยู่ที่ลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ลาดบัวหลวงมีจำนวน 2 โรงงาน โรงงานแรกผลิตหลอดไฟ LED ส่วนโรงงานที่สองผลิตเสาไฟฟ้า การ์ดเรียล

วิสัยทัศน์ (VISION)

“เรเซอร์” ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมส่องสว่างและความปลอดภัย

พันธกิจ (MISSION)

  • พัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบรับ Digital Disruption
  • เพิ่มประสิทธิภาพและขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า
  • เพิ่มประสิทธิภาพระบบ Logistic โดยใช้ Artificial Intelligence System (ระบบปัญญาประดิษฐ์)
  • คิดค้นพัฒนาระบบอัจฉริยะสั่งงานด้วยเสียงเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค
  • สร้างการรับรู้เข้าถึงผู้บริโภคด้วย Interactive

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปลูกฝังให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน และรับทราบถึงความรับผิดชอบของตนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับบริษัท รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของบริษัทในการควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกรูปแบบ บริษัทฯ มุ่งมั่นปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดทอนของเสียและกากของเสียจากการทำงานก่อนคืนสู่สภาพแวดล้อม และค้นหาแนวทางการนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการทำงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการภาครัฐและได้รับรางวัล ISO 14001 / Green Industry / Green Mind

นโยบายด้านคุณภาพ

“สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ บริการหลังการขายที่สร้างความประทับใจ มุ่งเน้นความพึงพอใจของลูกค้า ทั้งการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือความรับผิดชอบของพนักงานทุกคน”


ข้อมูลกิจกรรมด้านสุขภาวะองค์กร

จากนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า

บทเรียนที่ 1 พลังแห่งนโยบายและการสนับสนุน

บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด มีปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนกิจกรรมทางกายในองค์กรภายใต้บทเรียนอยู่ สองประเด็นหลัก ได้แก่ 1) บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด มีการกำหนดนโยบายสุขภาพที่ชัดเจน และมีการนำนโยบายเหล่านั้นมาใช้อย่างเป็นระบบ อาทิเช่น การสนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพที่มุ่งเน้นให้พนักงานมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 2 โครงการต่อปี โดยที่ทุกโครงการหรือกิจกรรมจะต้องมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน รวมถึงมีความสอดคล้องกับทิศทางของนโยบายสุขภาพขององค์กร และ 2) การสนับสนุนจากผู้บริหารในองค์กร ตั้งแต่การมีส่วนร่วมของผู้บริหารไปจนถึงงบประมาณ ในกรณีของบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญของการออกกำลังกายซึ่งส่งผลที่ดีต่อสุขภาพของพนักงาน จึงลงมามีส่วนร่วมในกิจกรรมเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน นอกจากนี้ ยังการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการและกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ดังนั้น การสนับสนุนจากผู้บริหารจึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพของพนักงานในบริษัทอีกด้วย

บทเรียนที่ 2 ก้าวกระโดดโดยแกนนำสุขภาพกับแผนงานที่ชัดเจน

คณะดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพมีบทบาทสำคัญในการวางแผนและดำเนินการกิจกรรมสุขภาวะ การมีคณะทำงานที่มีความรู้ ใฝ่หาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เสอม และพร้อมจะทุ่มเทเวลาเพื่อสนับสนุนงานสุขภาวะในองค์กร สามารถช่วยให้การดำเนินการส่งเสริมโครงการเพื่อกิจกรรมทางกาย เป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าใน บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัดนั้น มีคณะดำเนินงานฯ ที่พร้อมสละเวลาเพื่อร่วมประชุม วางแผนการดำเนินงานกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในพนักงาน และนำเสนอแผนงานเหล่านั้นต่อผู้บริหารขององค์กร เพื่อของบประมาณสำหรับทำกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับหัวหน้าแผนกต่างๆ ในการเข้าถึงเพื่อเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ การมีแผนการดำเนินงานสุขภาพที่เหมาะสม ตรงกับปัญหาและความต้องการของพนักงานในองค์กร ยังช่วยให้การดำเนินโครงการต่างๆ นั้นราบรื่นมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น คณะดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพในบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการปรับปรุงกระบวนการประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมต่างๆ ตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม ดึงดูดให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง

บทเรียนที่ 3 ติดตามประเมินผลสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

การประเมินผลและการติดตามผลของโครงการอย่างต่อเนื่องนั้น ช่วยให้การดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และสามารถนำผลที่ได้นั้นไปปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงานได้ดียิ่งขึ้น ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น การลดลงของค่า BMI ความแข็งแรงของร่างกาย และสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนของความสำเร็จในการดำเนินส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากนี้ การประเมินผลกิจกรรมสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้พนักงานมีส่วนร่วมและรู้สึกถึงความสำคัญในการรักษาสุขภาพของตนเอง

ตัวอย่างโครงการและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมในบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด

โครงการ “อ้วนจ๋าลาก่อน”
  1. โครงการ “อ้วนจ๋าลาก่อน” มุ่งเน้นการลดค่า BMI ด้วยการสนับสนุนการออกกำลังกาย ควบคู่กับการทางอาหารตามโภชนาการ โดยมีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากปี ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 เป็น ซีซั่นแรกและมีการขยายผลในซีซั่นที่สอง (พ.ศ. 2566) และซีซั่นที่สาม (พ.ศ. 2567) อย่างต่อเนื่อง โดยในโครงการยังมีการจัดกิจกรรมย่อยต่างๆ เช่น การแจกกล่องข้าวเพื่อสนับสนุนการทานอาหารตามสูตร 2:1:1 ของ สสส. และการจัดกิจกรรมประกวดเมนูอาหารคลีน
  2. วิ่งการกุศล ซึ่งการจัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งการกุศลเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ส่งเสริมการออกกำลังกายและสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเข้าร่วม โดยบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด มีการเชิญชวนให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งการกุศล รวมกับคณะผู้บริหารเป็นประจำ
  3. กิจกรรมยืดเส้นยืดสาย ในพื้นที่ภายในองค์กรให้พนักงานสามารถไปยืดเส้นยืดสายหรือวิ่งออกกำลังกายได้ การติดตามผลการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการเก็บข้อมูลน้ำหนัก คลิปออกกำลังกาย ไดอารี่การทานอาหาร และการตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจแก่พนักงาน

ทั้งนี้ กิจกรรมทั้งหมดของบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้าฯ ได้ถูกออกแบบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและความสะดวกของพนักงานในแต่ละกลุ่มอายุและแผนกการทำงาน เพื่อให้เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานในทุกกลุ่ม และส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพที่ยั่งยืน


การรับรองมาตรฐานองค์กรสุขภาวะ

อยู่ระหว่างพัฒนาหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานองค์กรสุขภาวะ


ผลการเปลี่ยนแปลง

การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรของบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ค่า BMI ของพนักงานลดลง มีการออกกำลังกายและสุขภาพที่ดีขึ้น ทางบริษัทมีการติดตามผลลัพธ์จากโครงการอย่างต่อเนื่อง เช่น การชั่งน้ำหนักและตรวจสุขภาพประจำปี การวัด body fat และการประกาศผลลำดับกิจกรรมออกกำลังกาย


บทเรียน ประสบการณ์

องค์กรต้นแบบด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ของ บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด

บทเรียนความสำเร็จ

บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพของพนักงาน ด้วยการกำหนดนโยบายสุขภาพที่เป็นระบบและชัดเจน โครงการและกิจกรรมมีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ และการสนับสนุนจากผู้บริหารที่มีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาสุขภาพของพนักงานอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสองโครงการต่อปี นอกจากนี้ผู้บริหารยังพร้อมมีส่วนร่วมในกิจกรรมซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในการเข้าร่วมกิจกรรมทางกาย การมีส่วนร่วมของผู้บริหารเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ

อีกปัจจัยที่สำคัญของบริษัทฯ คือการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องสำหรับโครงการส่งเสริมสุขภาพและรณรงค์การมีกิจกรรมทางกาย ทำให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น อีกทั้ง การที่บริษัทฯ มีคณะดำเนินงานที่มีความทุ่มเทในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ พร้อมการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องช่วยให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ซึ่งแผนงานเหล่านี้ ทำให้ผู้บริหารได้เห็นถึงความสำเร็จของการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และให้การอนุมัติงบประมาณเพื่อการจัดกิจกรรมที่หลากหลายและตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานได้จริง นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจและรางวัล เช่น การมอบรางวัลและการยกย่องพนักงานที่ประสบความสำเร็จในการออกกำลังกายลดน้ำหนัก เป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นในปีต่อๆไป

บริษัทฯ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในพนักงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านการวางแผนกิจกรรมใหม่ๆ ในแต่ละปี การมีแผนการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นและการปรับปรุงตามความต้องการของพนักงานทำให้โครงการมีความยั่งยืนและมีผลลัพธ์ที่ดี

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นองค์กรต้นแบบด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ยั่งยืน มีการสนับสนุนจากผู้บริหาร การวางแผนและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างแรงจูงใจ และความมุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

แนวทางการสร้างองค์กรสุขภาวะ จุดเด่น
1. การกำหนดนโยบายสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร มีการกำหนดนโยบายอาชีวะอนามัยที่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพ เช่น การกำหนด KPI สำหรับกิจกรรมสุขภาพ และสนับสนุนโครงการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้มีโครงการสุขภาพอย่างน้อย 2 โครงการต่อปี
2. คณะทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร มีคณะทำงานเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่มีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการกิจกรรมสุขภาวะ เช่น คณะทำงาน คปอ ที่ประชุมและเสนอแผนงานต่อผู้บริหารเพื่อขออนุมัติงบประมาณ และการทำงานร่วมกับหัวหน้าแผนกเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายตามแผนกต่างๆ
3. งบประมาณสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร มีการของบประมาณจากผู้บริหารเพื่อทำกิจกรรม โดยนำแผนงานเสนอผู้บริหารเพื่อขอการสนับสนุนทางงบประมาณ มีการผลักดันให้เห็นผลเชิงรูปธรรมเพื่อรับการสนับสนุนต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมเสียงตามสายเพื่อให้พนักงานขยับร่างกายระหว่างทำงาน
4. แผนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นขั้นตอน รวมทั้งมีกิจกรรมย่อยต่างๆ และการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
5. การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรอย่างต่อเนื่องโดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม มีการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะอย่างต่อเนื่องและมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เช่น ค่า BMI ของพนักงานลดลง การมีการออกกำลังกายและสุขภาพที่ดีขึ้น มีการติดตามผลลัพธ์จากโครงการอย่างต่อเนื่อง เช่น การชั่งน้ำหนักและตรวจสุขภาพประจำปี การวัด body fat และการประกาศผลลำดับกิจกรรมออกกำลังกาย
6. มีกระบวนการ ผลลัพธ์และแนวทางการดำเนินงานที่ดี กระบวนการดำเนินงานของบริษัทเป็นแบบเชิงรุก มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และผลลัพธ์ที่ได้ มีการนำเสนอผลลัพธ์ให้เห็นชัดเจนเพื่อดึงดูดการสนับสนุนจากผู้บริหาร มีการติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องและการสื่อสารกับพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ open chat และแอปคำนวณแคลอรี่ในการสื่อสารกับพนักงาน กระบวนการเหล่านี้สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่นได้