ปกป้องสุขภาพทุกคนจากบุหรี่ ด้วยพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรมช่วยพนักงานลดละเลิกบุหรี่
คนวัยทำงานมีพฤติกรรมเสี่ยง รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 ของ สสส. พบว่า 1 ใน 5 สูบบุหรี่ทุกวัน สอดคล้องกับสถิติคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่โดยตรงราว 70,000 คนต่อปี และคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองถึง 20,000 คนต่อปี อีกทั้งยังมี “ควันบุหรี่มือสาม” คือสารพิษจากควันบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ตามเสื้อผ้า กำแพง เครื่องปรับอากาศ หรือส่วนอื่น ๆ ในบ้านและในที่ทำงาน ดังนั้น คนอื่น ๆ รอบข้างก็มีโอกาสจะได้รับอันตรายจากสารพิษในบุหรี่ไม่น้อยไปกว่าตัวผู้สูบเอง สถานที่ทำงานเป็นเหมือนบ้านที่สองที่คนทำงานต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง จึงต้องการสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัยจากควันบุหรี่ให้ได้มากที่สุด
นอกเหนือจากบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าก็อันตรายต่อสุขภาพพนักงาน และส่งผลด้านลบต่อองค์กรหลายด้านเช่นกัน โดยในระยะหลังการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทำงาน จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประชากรกลุ่มอายุ 18-30 ปี พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากราว 78,000 คนในปี 2564 เป็นประมาณ 700,000 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า
การสูบบุหรี่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพนักงานคนใดคนหนึ่ง แต่ยังส่งผลต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เนื่องจากต้องทำงานร่วมกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง การสูบบุหรี่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ จากการได้รับควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของพนักงานที่ติดบุหรี่ยังอาจส่งผลต่อการชักนำให้พนักงานบางส่วนที่ไม่เคยสูบบุหรี่กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้อีกด้วย
เจ้าของสถานที่/สถานประกอบการมีหน้าที่รับผิดชอบในเชิงกฎหมายที่ต้องดูแลคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และกำหนดเขตปลอดบุหรี่ที่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ด้วยเช่นกัน
การสร้างองค์กรปลอดบุหรี่ควรเริ่มจากการมีพื้นที่สร้างสรรค์ให้พนักงานได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียดแทนการสูบบุหรี่ สร้างสรรค์วิธีการหลากหลายที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการอยากเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง มีกิจกรรมสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้สูบบุหรี่สามารถลดละเลิกการสูบบุหรี่ได้จริง
“องค์กรปลอดบุหรี่” เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยปกป้องสุขภาพพนักงาน ทั้งในกลุ่มที่สูบบุหรี่และกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ ช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าประกันสุขภาพ ลดการขาดงาน จากปัญหาสุขภาพที่เป็นผลตามมาจากการสูบบุหรี่ และนำไปสู่สุขภาพที่ดีของพนักงานทุกคนและประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขององค์กรโดยรวม
ประเด็นสุขภาวะ → ลดการบริโภคยาสูบ
ประเด็น Happy 8 → Happy Body