คนทำงานนั่งเนือยนิ่งเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันเสี่ยงโรคอ้วน พนักงานที่มีสุขภาพดีกว่า มีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าถึง 2-3 เท่า
คนทำงานนั่งเนือยนิ่งเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันเสี่ยงโรคอ้วน คนไทยเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 มีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วน ร้อยละ 42.2 และอ้วนลงพุง ร้อยละ 39.4 ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน สุขภาพที่ย่ำแย่ และยังส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย
ปี 2565 กรมอนามัยสำรวจพบว่า ประชากรวัยทำงานที่มีกิจกรรมทางกายมากกว่าหรือเท่ากับ 150 นาทีต่อสัปดาห์มีแนวโน้มลดลง โดยเมื่อเทียบกับปี 2564 ลดลงจากร้อยละ 73.89 เป็นร้อยละ 63.33 ลดลงจากเดิมร้อยละ 10.56
ในภาพรวมพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด- 19 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเป้าหมายที่ไม่ควรเกิน 13 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เสี่ยงอันตรายเกิดโรค และอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะคนเมืองกรุงพบว่ามีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงถึงร้อยละ 79
“พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือ Sedentary Behavior หมายถึง การนั่งหรือนอนในกิจกรรมต่าง ๆ หรือการอยู่นิ่ง ๆ ต่อเนื่องกันนานเกิน 2 ชั่วโมง (ไม่รวมการนอนหลับ) เช่น การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ การนั่งทำงาน การนอนดูทีวี พฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ พฤติกรรมเนือยนิ่งมีความสัมพันธ์กับอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และภาวะของเมตะบอลิคซินโดรม หรือที่เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “โรคอ้วนลงพุง”
ในสถานการณ์คนทำงานส่วนใหญ่นั่งเนือยนิ่งนาน ๆ เช่นนี้ สถานประกอบการที่คนวัยทำงานใช้ชีวิตอยู่มากเกือบเท่าที่บ้านควรมีส่วนร่วมเป็นจุดเริ่มต้นจุดประกายส่งเสริมการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของพนักงาน โดยเน้นการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ในแบบที่เรียกว่า ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และเป็นรูปธรรมที่ทุกคนเข้าถึงสามารถทำได้จริง
การพัฒนาเป็นองค์กรที่พนักงานไม่เนือยนิ่ง คนทำงานมีลักษณะแอคทีฟตื่นตัวเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ นอกจากช่วยส่งเสริมสุขภาพของพนักงานแล้วยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นองค์กรน่าอยู่ที่เต็มไปด้วยคนสุขภาพดีและอารมณ์ดี
นอกจากส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรแล้วการส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีจะช่วยลดอัตราการลาออก ทำให้พนักงานอยู่กับบริษัทนานขึ้น และการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรยังทำให้คนภายนอกที่มีศักยภาพและมีความสามารถอยากมาร่วมงานด้วย
ผลวิจัยจาก Forrester US Future of Work Survey ยืนยันว่า บริษัทที่พนักงานมีสุขภาพดีกว่า มีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าถึง 2-3 เท่า เพราะเมื่อไม่มีปัญหาสุขภาพมาบั่นทอนย่อมมีพละกำลังมุ่งมั่นทำงานตามภาระหน้าที่ได้เต็มความสามารถ ดังนั้นเมื่อพนักงานต้องใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานอย่างน้อย 1 ใน 3 ของวัน หากสถานประกอบการมีตัวช่วยให้พนักงานน้ำหนักลดลงได้เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวพนักงานและส่งผลดีต่อองค์กรด้วย
การลุกขึ้นขยับร่างกายให้มากขึ้นช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคยอดฮิตคนวัยทำงานได้ จากสถิติอัตราค่ารักษาพยาบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถิติการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานในหลายองค์กร พบว่ากำลังสูญเสียงบประมาณด้านค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากไปกับค่ารักษาจากการเจ็บป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs ของพนักงาน เกิดภาระและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
อย่างไรก็ตามทุกคนรู้ดีว่าอุปสรรคในการขยับและเริ่มออกกำลังกายของคนวัยทำงานมักอยู่ที่การไม่สามารถเริ่มต้นปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ขยับและออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นควรเริ่มกันก่อนง่าย ๆ ด้วยการเรียนรู้เคล็ดลับเริ่มขยับและออกกำลังกายที่มีแต่ “ได้” ที่จะช่วยให้ไร้ความเจ็บป่วย เรียนรู้หลักการขยับและออกกำลังกายอย่างถูกวิธี และวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ทุกวัน ซึ่งการเริ่มต้นแบบง่าย ๆ ในที่ทำงาน แล้วทำไปด้วยกันกับเพื่อน ๆ จะช่วยให้การเริ่มต้นขยับเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าทำคนเดียวอีกด้วย
ประเด็นสุขภาวะ → เพิ่มกิจกรรมทางกาย
ประเด็น Happy 8 → Happy Body